10701 จำนวนผู้เข้าชม |
บทความนี้เรียบเรียงจากการอ่านและค้นหาข้อมูลประกอบของแอดมิน หากบทความมีประโยชน์รบกวน กด Like ให้ด้วยนะคะ และหากท่านใดมีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับเรื่องตาข่ายผิว มาแชร์กันได้ค่ะ
ถ้าใครเคยเอาหนังหน้าไปตรวจในเครื่องวิเคราะห์สภาพผิวตามเคาน์เตอร์ละก็ คุณอาจจะเจอกับประโยคนี้ " ตาข่ายผิว คุณน้อยนะคะ " โครงสร้างผิวมีปัญหา จะแก่ก่อนวัย เจ้าของหนังหน้าก็นอยด์ไปพักใหญ่ เอ่อ แล้วจะต้องทำยังไงคะ รวมเบ็ดเสร็จแล้วอาจจะต้องจ่ายไปหลายพันเพื่อซื้อชุดบำรุง "ตาข่ายผิว" กลับมาดังเดิม
ตาข่ายผิว ในภาษาอังกฤษเรียกว่า skin texture ไม่ใช่ skin net คำว่า skin texture ถ้าแปลให้ตรงตัวอีกนิดก็แปลได้ว่า ลวดลายผิว แต่เราเรียกให้เห็นภาพชัดว่า ตาข่าย เพราะมันมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆสานกันเหมือนตาข่าย
คำว่าตาข่ายผิวน้อย หมอผิวหนังบอกว่าไม่มีศัพท์และนิยามนี้ในวงการแพทย์ เป็นคำประดิษฐ์เพื่อใช้ในทางธุรกิจของบรรดาเครื่องสำอางแบรนด์ !
สรุป หมอลงความเห็นว่าไม่รู้ว่ามันคืออะไร และมีผลเสียอย่างไรต่อผิวหนัง ไม่ใช่ความผิดปกติของผิวหนังที่จะต้องถึงขั้น " หาทางรักษา " อาจจะเป็นแค่กลลวงหลอกให้เสียเงินเปล่า
ตาข่ายผิว จะมีลักษณะอย่างไร สวยงามมีมิติ หรือแบนราบเรียบแทบดูไม่ออกว่าเป็นตาข่าย ขึ้นกับผิวชั้นหนังขี้ไคลเป็นหลัก ถ้าชั้นหนังขี้ไคล สมบูรณ์ อวบอิ่มดี ตาข่ายผิวก็จะสวย มีระเบียบ ชัดเจน มีมิติ
ในทางตรงกันข้าม ชั้นขี้ไคลที่มีการหลุดลอกไม่สม่ำเสมอ อ้าปาก ปิดบ้าง คล้ายๆผิวมีการลอกเป็นเกล็ด (เหมือนการเปิดของเกล็ดผม) ตาข่ายผิวก็จะดูระเกะระกะ แบนราบ ตามที่ BA บอกว่า " ตาข่ายผิวคุณน้อยนะคะ " แล้วก็ตามด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์เพื่อให้ ตาข่ายผิว กลับคืนมา
อ่านบทความนี้จบ จะรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรแพงๆ ตาข่ายผิวเราก็กลับมาได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าตาข่ายผิวเราน้อยหรือมาก ดีหรือแย่?
สำหรับที่ผิวหน้า จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องใช้เครื่องวิเคราะห์ผิวส่องขยาย ลองไปตามเคาเตอร์เครื่องสำอางในห้าง เช่น Kanebo ขอวิเคราะห์สภาพผิวหน้าได้ค่ะ
แต่ถ้าแค่อยากรู้ว่าหน้าตา " ตาข่ายผิว" เป็นยังไง ไม่ต้องเอาหน้าไปใส่เครื่องวิเคราะห์ ก็ลองสังเกตผิวที่หลังมือของเรา ผิวบริเวณนั้นเป็นจุดที่ตาข่ายผิวชัดที่สุดในร่างกายเราแล้ว ลองดูภาพด้านล่างประกอบ จะเห็นว่าผิวมีลวดลายเป็นตาข่าย ถ้าจ้องดีๆก็จะเห็นว่าแต่ละช่องเป็นรูปสามเหลี่ยม เล็กบ้าง กลางบ้าง ใหญ่บ้างปะปนกัน นี่แหละ " ตาข่ายผิว"
รูปนี้ก็ถ่ายจากมือของแอดมินเองค่ะ ไม่น่าเชือเลยว่าตาข่ายผิวที่หลังมือจะสวยงามกว่าตาข่ายผิวบนผิวหน้าซะอีก กรี๊ดดด ^^
แล้วตาข่ายผิวที่ผิดปกติ มีผลเสียต่อผิวหนังมากหรือไม่?
จะว่าไม่มีผลเสียเลยก็คงไม่ใช่ ตาข่ายผิวที่น้อย บ่งบอกถึงความแห้งของเซลล์ผิวชั้นขี้ไคล การหลุดลอกของเซลล์ผิวซ้ำๆจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทาสิวหรือผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ อายุที่มากขึ้น แสงแดด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ในเซลล์ผิวลดลง เมื่อผิวขาดความชุ่มชื้น เซลล์ผิวจะขาดความอวบอิ่ม เซลล์จึงแบนราบ จุดตัดของเซลล์ไม่ชัดเจน ตาข่ายผิวจึงไม่มีมิติ หรือเรียกว่าตาข่ายผิวน้อย ผลเสียข้อแรกก็คือเมื่อมองผิวจากภายนอก อาจจะมองเห็นว่าผิวขาดชีวิตชีวา ไม่เรียบเนียน ไม่ค่อยเปล่งปลั่งหรืออวบอิ่ม
บางคนบอกว่าเป็นที่คอลลาเจนน้อย ทำให้ตาข่ายผิวน้อย ซึ่งไม่ถูกต้อง คอลลาเจนและอีลาสตินน้อย อาการจะแสดงออกที่ร่องลึก หน้าหย่อน แก้มหย่อน คางหย่อน ใต้ตาหย่อน แต่บางคน หน้ายังไม่มีริ้วรอยร่องลึกเลย อายุ 20 ต้นๆก็ไร้ตาข่ายผิวซะแล้ว ดังนั้นตาข่ายผิวไม่เกี่ยวกับอายุ คุณแม่อายุ 60 จูงมือลูกสาวอายุ 30 ไปตรวจสภาพผิว คุณแม่อาจมีตาข่ายผิวสวยและชัดกว่าลูก
นอกจากเรื่องของความสวยงามของผิวแล้ว ผลเสียข้อที่สองคือ คนที่มีตาข่ายผิวน้อย ผิวหน้าอาจจะไวและระคายเคืองง่าย (ย้ำว่าไวต่อการระคายเคือง ไม่ใช่แพ้ง่าย) กว่าคนที่ตาข่ายผิวสมบูรณ์ เช่นโดนแดดก็แดงง่าย เพราะเซลล์ผิวชั้นขี้ไคลที่แห้งหรือไม่สมบูรณ์ มักจะมีการจัดเรียงตัวของเซลล์ที่ไม่เป็นระเบียบนัก เรียกง่ายๆว่ามีช่องโหว่ โอกาสที่สารและมลภาวะต่างๆจะแทรกซึมทะลุลงไปก็เกิดได้มากกว่า
ในตำราญี่ปุ่นมีประโยคหนึ่งที่บอกไว้ว่า " เซลล์ผิวที่แข็งแรง ตาข่ายผิวจะประกอบไปด้วยสามเหลี่ยมที่มีขนาดเท่าๆ กันเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบ ในทางกลับกันผิวที่ไม่ได้รับการดูแล เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ขนาดและรูปร่างของสามเหลี่ยมก็จะแตกต่างกัน เรียงซ้อนทับกัน จนกลายเป็นผิวที่ขรุขระ หยาบกระด้าง"
บางคนบอก ดูแลผิวอย่างดีแล้ว ตาข่ายผิวก็ยังน้อย ...ตาข่ายผิวในบางคนก็ถูกกำหนดมาแต่กำเนิดนะคะ แก้ไขอะไรไม่ได้ จะผ่านไปกี่ปี ตาข่ายผิวก็เหมือนเดิม ดีขึ้นได้เล็กน้อย ทั้งที่ผิวหน้าภายนอกก็ดูใสดี แต่ส่องกี่ที ตาข่ายผิวน้อยกว่าเพื่อนที่หน้าเยินๆซะอีก
ทำให้ตาข่ายผิวกลับมาได้อย่างไร?
ง่ายๆคือ 1. การเติมความชุ่มชื้นให้ผิวอย่างเพียงพอ และ 2. การผลัดเซลล์อย่างพอเหมาะ
1. การเติมความชุ่มชื้นให้เพียงพอ
เรามองผิวภายนอก เรารู้สึกว่าผิวเราเรียบดี แต่ที่จริงแล้ว พื้นผิวมีลักษณะเป็นคลื่น มีจุดสูงสุดของคลื่นคือ เนินผิว และจุดต่ำสุดของคลื่นคือ ร่องผิว เนินผิวจะคงที่ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงคือร่องผิว มีสูงขึ้น มีต่ำลง เมื่อร่องผิวลึก เนินผิวก็จะสูงและแคบ มองภายนอก ผิวจะดูละเอียด ในทางกลับกัน ถ้าร่องผิวตื้น เนินผิวก็จะเตี้ยและกว้างออก มองภายนอกจะเห็นว่าผิวหยาบ ไม่เรียบ สาเหตุหลักของร่องผิวตื้นเกิดจากผิวขาดความชุ่มชื้นภายในเซลล์
ตรงจุดตัดของร่องผิว คือ รูขุมขน เป็นทางออกของน้ำมัน คนที่ผิวร่องผิวตื้น น้ำมันจะไหลออกมาฉาบเนินผิวเร็ว หน้าจึงเหนอะหนะหรือมันเร็ว ทำให้คิดว่าตัวเองเป็นคนผิวมัน ก็ยิ่งล้างขัดถู ขยันผลัดเซลล์และไม่ทามอยส์เจอไรเซอร์ ทำให้ผิวยิ่งหยาบมากขึ้น แต่คนที่มีร่องผิวลึก น้ำมันจะมาถึงเนินผิวช้ากว่า หน้าจะมันช้ากว่า
ตาข่ายผิวสัมพันธ์กับร่องผิวและเนินผิว
ในแต่ละสามเหลี่ยมของตาข่ายผิว ตรงกลางของสามเหลี่ยมเปรียบได้กับเนินผิว และมุมทุกมุมของสามเหลี่ยมก็คือร่องผิว (รูขุมขน) ถ้าร่องผิวลึก เนินผิวสูง สามเหลี่ยมก็จะฟูๆ มีมิติ ไม่แบน และมองเห็นทุกสามเหลี่ยมเล็กใหญ่แยกกันได้ชัดเจน ต่างกับผิวทีมีร่องผิวตื้นและเนินผิวเตี้ย สามเหลี่ยมจะซ้อนทับกัน แยกกันไม่ออก
การเติมความชุ่มชื้น จะทำให้เซลล์ผิวเต่งขึ้นและพองเบียดกัน ร่องผิวจึงลึกขึ้น เนินผิวแคบลง รูขุมขนที่อยู่ตรงจุดตัดของร่องผิวก็จะถูกเบียดไปด้วย มองภายนอกทำให้แลดูรูขุมขนเล็กลง หน้าเรียบเนียนไม่หยาบ
การทดลองเพื่อดูผลของความชุ่มชื้นกับตาข่ายผิว
สรุปได้ว่า แค่เราเติมความชุ่มชื้นอย่างพอเหมาะ ตาข่ายผิวก็กลับมาได้