ไขความจริงเรื่องฝ้า กับหมอผิวหนังชื่อดัง สาเหตุ การป้องกัน วิธีรักษา ความเชื่อผิดๆ

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  130428 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขความจริงเรื่องฝ้า กับหมอผิวหนังชื่อดัง สาเหตุ การป้องกัน วิธีรักษา ความเชื่อผิดๆ

-เนื้อหาทั้งบทความ คัดลอกมาจากเพจคุณหมออุ๋ม ขวัญจิรา วงศ์เกียรติขจร facebook.com/drkuanjira
-รูปภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต/วาดเองบางส่วนค่ะ


พื้นฐานการดูแลผิวให้ห่างไกลจากฝ้า
⭐️มารู้จักฝ้ากันก่อนค่ะ
ฝ้า คือ ความผิดปกติของเม็ดสีแบบหนึ่ง มักเป็นปื้นน้ำตาลที่หน้าและบริเวณที่ผิวถูกทำลายโดยแสงแดดเช่นหน้าอก และ แขน
⭐️สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจาก #แสงแดดและความร้อน ค่ะ รักษาให้หายขาดยากค่ะ เพราะเกิดจากการทำลายผิวที่ถูกสะสมมานาน หมอช่วยได้แค่ให้ฝ้าจางลง แล้วเราต้องดูแลตังเองต่อเพื่อไม่ให้ฝ้ากลับมาค่ะ
ส่วนสาเหตุอื่น เช่น การตั้งครรภ์ การทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนทดแทน แค่หลังคลอด หรือหยุดยาฝ้าก็จางลงเองแล้วค่ะ

 

ดูเผินๆเหมือนผิวจะใส แต่ส่องดูใกล้ๆ ฝ้าใต้ผิวเริ่มก่อตัว


⭐️5สิ่งที่ควรทำ..ให้ห่างไกลฝ้า⭐️
1. ดูแลปกป้องผิวจากแสงแดดสม่ำเสมอ โดยทาครีมกันแดด SPF30ขึ้นไป PA+++ขึ้นไป
และพกร่มและหรือหมวกเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งต่อเนื่องนานๆ
2. เพิ่มการปกป้องผิวอีกระดับด้วย antioxidant ไม่ว่าจะเป็นการทานผักผลไม้อาหารเสริมต่างๆ และการใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของantioxidant เช่น วิตามินซี วิตามินอี
3. หลีกเลี่ยงการขัดหน้าบ่อยๆ เพราะการขัดถูมากๆสามารถกระตุ้นฝ้าให้เข้มขึ้นได้
4. ถ้ามีฝ้าแล้วหรือชีวิตประจำวันต้องโดนแดดจัดตลอด แนะนำให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของไวเทนนิ่งเช้า-เย็น ที่จะคอยช่วยให้เซลล์เม็ดสีทำงานน้อยลง เช่น Arbutin, Kojic acid, Niacinamide, Azeleic acid *สำหรับHydroquinoneควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผิวหนังค่ะ
และทาครีมกลุ่มวิตามินเอก่อนนอน เช่น Retinoic acid, Retinol, Retinyl palmitate นอกจากจะช่วยรักษาและป้องกันฝ้า ยังช่วยชะลอริ้วรอยและป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้ด้วย
5. พยายามหลีกเลี่ยงความร้อนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด ซาวน่า หน้าเตาทำอาหาร โยคะร้อน เพราะความร้อนกระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้นและยังเป็นสาเหตุของฝ้าเลือดอีกด้วย

 

เรื่องราวของฝ้า ตอนที่1
Q: ทำไมรักษาฝ้าถึงไม่หายขาดสักที
A: ฝ้า คือ ปื้นสีน้ำตาลของเม็ดสีผิว(melanin) ที่เพิ่มขึ้น มักเกิดขึ้นบริเวณที่โดนแสงแดดมากๆ เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม สันจมูก เหนือริมฝีปาก
ความผิดปกตินี้เกิดจากการที่
1. จำนวนเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) เพิ่มขึ้น
2. เซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes)ที่เพิ่มขึ้นมีขนาดใหญ่และมีแขนขายาวมากกว่าปกติ
..หมอขอเรียกเซลล์เม็ดสีที่ผิดปกติเหล่านี้ให้เข้าใจง่ายก็คือ เซลล์ฝ้า นั่นเอง
เนื่องจากเซลล์ฝ้าทั้งเยอะทั้งใหญ่ ขยันสร้างเม็ดสี(melanin)เลยทำให้เป็นปื้นน้ำตาลขึ้นมา..
⭐️ปัจจุบันยังไม่มียาทาหรือเลเซอร์ตัวไหนที่จะมีประสิทธิภาพดีพอที่จะทำให้เซลล์เหล่านี้ตายไปโดยที่ไม่เกิดผลข้างเคียง
⭐️การรักษาคือการลดการทำงานของเซลล์ฝ้าลง และกำจัดเม็ดสีที่สร้างแล้วออกไปเท่านั้น!! โดยที่เซลล์ฝ้ายังอยู่
⭐️การดูแลตัวเองป้องกันไม่ให้เกิดเม็ดสีขึ้นมาใหม่สำคัญยิ่งกว่า..

 


กระบวนการผลิตเม็ดสีเมลานิน

 

เรื่องราวของฝ้า ตอนที่2
⭐สาเหตุของการเกิดฝ้า⭐
1. แสง UVA UVB และ visible light
แสงแดดเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะ มีความเข้มของแสงเหล่านี้สูงโดยเฉพาะในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึงสี่โมงเย็น
Visible light คือแสงที่มองเห็นได้ นอกในแสงแดดแล้วยังมาจากหลอดไฟ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อีกด้วย
2. ฮอร์โมนเพศหญิง
เราเลยพบว่าผู้หญิงเป็นฝ้ามากกว่าผู้ชาย มีฝ้าขณะตั้งครรภ์และการทานยาคุมกำเนิดได้
3. ยารับประทานบางชนิด เช่น ยากันชัก
4. การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอางทำให้เกิดการอักเสบของผิวและทิ้งรอยดำคล้ายฝ้าได้
5. กรรมพันธุ์ ถ้าในครอบครัวเรามีปัญหาฝ้า ก็อยากขอให้เริ่มดูแลผิวกันให้ดีๆตั้งแต่อายุยังน้อยๆนะคะ เรียกว่ากันไว้ดีกว่าแก้ค่ะ
6. โรคทางกายบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ เนื้องอกรังไข่

 

แสงแดดคือสาเหตุหลักของฝ้า

 

เรื่องราวของฝ้า ตอนที่3
⭐ชนิดของฝ้า⭐
ตามตำราแบ่งฝ้าเป็น 3 ชนิดค่ะ
1. ฝ้าตื้น (Epidermal) มักเป็นปื้นสีน้ำตาล สีเข้มหรืออ่อนแล้วแต่ความรุนแรง มักเห็นขอบเขตชัดเจน รักษาให้จางลงได้ง่ายสุดค่ะ เพราะอยู่ด้านบนจึงสามารถลอกฝ้าหรือผลัดเซลล์ผิวด้านบนที่มีเม็ดสีฝ้าอยู่ออกได้
2. ฝ้าลึก (Dermal) เนื่องจากตัวอยู่ลึกเลยเห็นเป็นสีน้ำตาลเทา เห็นขอบเขตไม่ชัด และรักษายากกว่า เพราะยาทาหรือเลเซอร์ไปถึงยาก
3. ฝ้าลึกและตื้นรวมกัน (Mixed) มีทั้งปื้นน้ำตาลและเทาปนกัน
⭐หมอขอเพิ่มฝ้าอีก 2ชนิดที่คนไทยเรียกกันนะคะ
4. ฝ้าเลือด (Telangiectasia) คือ ปื้นแดงที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือด สังเกตเห็นได้เมื่ออยู่ในอากาศร้อนหน้าจะแดงกว่าตอนที่อยู่ในอากาศเย็น สาเหตุจากการโดนความร้อนนานๆอย่างต่อเนื่อง หรือจากยาทาฝ้าและครีมหน้าเด้งใดๆที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ก็ได้ค่ะ การมีฝ้าเลือดควบคู่กับฝ้าชนิดอื่นๆจะทำให้การรักษาฝ้านั้นยากขึ้นด้วยค่ะ เพราะเส้นเลือดเหล่านี้จะหลั่งสารVEGF เป็นตัวกระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้นอยู่ตลอด
5. ฝ้าถาวร (Ochronosis) คือ ฝ้าที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา เกิดจากการทายารักษาฝ้าที่มีส่วนผสมของHydroquinoneต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆจนทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นดังนั้นการใช้ยาทาฝ้าควรอยู่ในการดูแลของแพทย์จะดีกว่านะคะ

 

เรื่องราวของฝ้าตอนที่4
⭐ การรักษาฝ้า ⭐
"หมอช่วยให้ฝ้าจางลงได้ ส่วนที่เหลือต้องช่วยดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ฝ้ากลับมาเข้มใหม่.."
..คำพูดนี้สำคัญที่สุดเลยค่ะ เพราะรู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
# ข้าศึก
ฝ้า = เซลล์ฝ้า + เม็ดสี
#กลยุทธ์การรักษา
1. "ยับยั้ง" การสร้างเม็ดสีใหม่จากเซลล์ฝ้า
2. "กำจัด" เม็ดสีเดิมที่มีอยู่ออกไป
อาวุธที่มี
1. ยาทา** ถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานที่ได้ผลดีและผลข้างเคียงน้อยที่สุด
อาจจะเห็นผลช้าหน่อย แต่ก็ช้าๆได้พร้าเล่มงามนะคร้าา
- กลุ่มไวเทนนิ่ง ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเช่น Arbutin, Kojic acid, Niacinamide, วิตามินซี
- Azelaic acid 20% ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสี เห็นผลช้าหน่อยแต่ใช้ได้ยาวๆ มีขายตามร้านขายยา ที่เจ๋งที่สุดคือใช้ตอนตั้งครรภ์ได้ แถมช่วยเรื่องสิวอีก.. ดีงาม
- Hydroquinone 2-4% ยานี้ถือว่าเป็นตัวช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่ดีที่สุด ทาไปไม่นานก็เห็นว่าฝ้าจางลง ข้อเสียคือใช้ไปนานๆทำให้เกิดฝ้าถาวรได้(ochronosis) ดังนั้นทาง อย.ถือว่าเป็นยาอันตรายจึงอนุญาตให้เป็นส่วนผสมในยาที่สั่งจ่ายและดูแลรักษาโดยแพทย์เท่านั้นค่ะ สำหรับในเครื่องสำอางต้องมีความเข้มข้นของยาไม่เกิน0.02%ค่ะ.. พึงระวัง
- กลุ่มช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น AHA, Salicylic acid, retinoids จะผลัดมากน้อยขึ้นกับตัวยาและความเข้มข้นค่ะ ช่วยกำจัดเม็ดสีที่มีอยู่ออกไป
2. ลอกฝ้า (Chemical peeling) คือ การผลัดเซลล์ผิวที่ทำโดยแพทย์เพราะใช้ความเข้มข้นสูง หรือ ตัวยาเฉพาะ เช่น AHA, TCA, Jessner's solution ช่วยกำจัดเม็ดสีเดิมที่มีอยู่ออกไป ผลัดผิวออกเยอะหน่อย(ลอกฝ้า)ฝ้าจะจางลงเร็ว แต่ต้องหลบแดดนะคะ หลบแบบเน้นๆ
ข้อเสีย อันนี้แหละผิวบางลงจริงๆ ถ้าไม่ดูแลตัวเองดีๆฝ้าจะกลับมาใหม่และเข้มกว่าเดิมแน่นอนครับพี่น้อง
3. ยารับประทาน เชื่อว่าช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสี
- Transamic acid, glutathione
- Vitamin C และ Antioxidants อื่นๆ
4. ยาฉีด ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสี
- Transamic acid, mesotherapy
5. เลเซอร์ ช่วยกำจัดเม็ดสีเดิมที่มีอยู่ออกไป
- QS-NdYAG, Alexandrite, Ruby
- Picosecond laser
- IPL
- Fractional laser
**มีภาคต่อเรื่องเลเซอร์กับฝ้า เจอกันครั้งหน้าแบบละเอียดยิบ
6. ปกป้องตัวเองจากแสงแดดและความร้อน
ช่วยลดการสร้างเม็ดสีใหม่ๆ ต้องทำตลอดไปและสม่ำเสมอ เพราะสำคัญไม่แพ้การทายาเลยค่ะ
**แปะไว้คุยกันอีกที
⭐สรุปรักษาฝ้าใช้ยาและปกป้องตัวเองจากแสงแดดเป็นหลักนะคะ อื่นๆช่วยเสริม



เรื่องราวของฝ้าตอนที่5
⭐ เลเซอร์กับฝ้า⭐
ก่อนอื่นต้องบอกว่าเลเซอร์ไม่ได้เป็นการรักษาหลัก เลเซอร์เป็นเพียงการรักษาเสริมเท่านั้น
ฝ้า ยังเป็นปัญหาที่ยากจะรักษาให้หายขาด ปัจจุบันเราทำได้แค่เพียงทำให้สีฝ้าจางลงเท่านั้น
เลเซอร์.. เคยเป็นความหวังของการรักษาฝ้าให้หายขาด แต่แล้วก็ไม่ดีดังหวัง
การรักษาฝ้าที่ดีควรจะมีการกำจัดเม็ดสีออกไป ร่วมกับการลดการสร้างเม็ดสีของเซลล์ฝ้า และหลีกเลี่ยงการระคายเคืองซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบที่ผิวไปกระตุ้นการหลั่ง inflammatory cytokines เช่น VEGF ที่เป็นสาเหตุทำให้ฝ้าเข้มขึ้น
โลกเรามียาทาฝ้าที่ได้ผลดีมากชื่อ Kligman's formula ประกอบด้วย
1. Hydroquinone ยับยั้งการสร้างเม็ดสี
2. Retinoic acid ผลัดเซลล์ผิวบางๆ กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่
3. Dexamethasone เป็นสเตียรอยด์ลดการระคายเคือง
แต่... หลายสิบปีผ่านไปเราก็ได้เรียนรู้ว่า.. ใช้ต่อเนื่องระยะยาวทำให้เกิดฝ้าเลือดจากสเตียรอยด์ และเกิดฝ้าถาวรจาก Hydroquinone ได้
เลเซอร์ก็เช่นเดียวกัน..
1. จับทำลายเม็ดสีดำ
2. ช่วยผลัดเซลล์ผิว สร้างเซลล์ผิวใหม่
ฝ้าจางลงชัดเจนและรวดเร็ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เลเซอร์ไม่ได้ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสี แถมยังมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของผิวได้โดยเฉพาะเลเซอร์ที่ทำให้เกิดแผล
นี่แหละเป็นที่มาของ.. เลเซอร์ไม่ใช่การรักษาหลัก
ปัจจุบันเลเซอร์ที่มีรายงานว่าช่วยทำให้ฝ้าจางลงได้แบ่งเป็น 2กลุ่มด้วยกัน
1. เลเซอร์ที่ไม่เป็นแผล เช่น QS-Nd:YAG, QS-Alexandrite, Qs-Ruby, PDL, IPL, DualYellow
2. เลเซอร์ที่ทำให้เป็นแผลกลุ่มFractional laser เช่น Fractional Erbium:YAG
การใช้เลเซอร์ในการรักษาฝ้าเหมือนเป็นดาบ2คม ทุกอย่างมีความพอดีของมันค่ะ ไม่ใช้พลังงานสูงไป ไม่บ่อยเกินไป และเพื่อการช่วยให้เห็นผลดีที่สุดแนะนำให้ใช้ยาทากลุ่มไวเทนนิ่งร่วมกับการทำเลเซอร์เสมอ
อย่าเพิ่งท้อกันนะคะ.. วิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพยายามเสาะแสวงหาสิ่งที่ได้ผลดีและไม่มีผลข้างเคียงอยู่ค่ะ
ฝ้า.. สำคัญที่การปกป้องตัวเองจากแสงแดด..อย่าลืมนะคะ

 

 เลเซอร์เป็นเพียงทางเลือกในการรักษาฝ้า

 

เรื่องราวของฝ้า ตอนที่6
⭐ ข้อควรระวังในคนที่ทำเลเซอร์รักษาฝ้า⭐
ปัญหาที่เกิดขึ้นได้มีทั้งทำให้ #ฝ้าเข้มขึ้น และ เป็น #ด่างขาว เลยค่ะ..
⭐️ฝ้าเข้มขึ้นยังไม่น่ากลัวเท่าเป็นด่างขาวจากเลเซอร์นะจ๊ะ เพราะยังไม่มีทางรักษากันได้เลยนาจา
⭐️ฝ้าเข้มขึ้นเพราะ???
1. IPL คือแสงความเข้มสูง ถ้าสูงมากหรือfilterของเครื่องคุณภาพไม่ดีพอก็จะมีแสงUVผ่านออกมาด้วย ไปกระตุ้นฝ้าเต็มๆ
2. ใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูงกระตุ้นให้เกิดความร้อนและการอักเสบที่ผิวมากเกินไป ฝ้าก็เข้มขึ้นได้
3. หลังรักษาหายไปแล้วกลับมาดำกว่าเดิม จาก Rebound phenomenon ก็เป็นได้
..ดังนั้นหลังทำเลเซอร์ทำให้ฝ้าจางลงแล้วต้อง #หลบแดด และ #ทายากลุ่มไวเทนนิ่ง ไปด้วย #เสมอ ‼️อย่าได้ชะล่าใจ.. จำไว้ว่าฝ้าไม่ได้ลาจากเราไปไหน.. ถ้าเผลอลืมว่าตัวเองเป็นฝ้าเมื่อไหร่.. มันจะกลับมาเตือน
⭐️ด่างขาว??
งงหละสิ.. ว่ามาได้อย่างไร.. มาอย่างนี้ค่ะ
การใช้เลเซอร์กลุ่มQSด้วยพลังงานสูง ไม่ว่าจะเป็น QS- Nd:YAG, Alexandrite, Ruby* อาจทำให้เซลล์ฝ้าตาย(เหมือนดี) แต่ก็จะทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีปกติของผิวตายไปด้วย
ทำให้เกิดวงขาวเล็กๆกระจายอยู่ คล้ายลายจุดของเสือดาว (guttate hypomelanosis)
ใครเริ่มเห็นอาการแบบนี้.. อย่าเข้าใจว่านี่คืออาการฝ้าจาง! #แนะนำให้หยุดทำเลเซอร์ด่วนๆเลยค่ะ เพราะยิ่งทำจุดขาวจะยิ่งเพิ่มขึ้น
*กว่าเราจะรู้ว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นได้ก็ใช้เวลาหลายปีหลังจากที่เครื่องเลเซอร์กลุ่มQSออกมาในท้องตลาด เลยอยากขอเตือนสาวๆที่ชอบลองของใหม่ล่าสุดนะคะ ว่า..
⭐️ ของใหม่ล่าสุดก็เหมือนคบกับแฟนใหม่ๆอ่ะค่ะ อะไรก็ดีไปหมด นานๆเข้าก็เริ่มเห็นข้อเสีย
สำหรับเลเซอร์กลุ่ม Picosecond ตอนนี้ใหม่มาก (เดี๋ยวซักพักคงจะได้เห็นในสื่อโฆษณากัน) ยังไม่มีรายงานนะคะ อาจเพราะใหม่มากๆหรือดีจริงก็เป็นได้
⭐️เลเซอร์เหมือนเป็นดาบสองคม.. ควรเลือกรับบริการกับแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญกันนะคะ

 

เรื่องราวของฝ้า ตอนที่7
⭐️ช่วงนี้โดนแดดเยอะ..รอรักษาทีเดียวคุ้ม?⭐
..คนที่เป็นฝ้าคิดไปผจญแดด?
..OMG! รู้สึกอยากเป็นลมแพล๊บ..
..No..No..No! ถึงแม้ไม่ได้มารักษากับหมอก็ต้องดูแลรักษาตัวเองนะคะ
.
..ทุกครั้งที่ตากตรำกลำแดด.. นอกจากฝ้าจะเข้มขึ้นแล้ว.. ผิวเราก็โดนทำลายไปด้วยนะคะ.. อย่าลืม!
..ศึกอื่นๆจะถามหา.. เช่น กระ กระเนื้อ ริ้วรอย หน้าเหี่ยว ผิวหย่อนคล้อย มะเร็งผิวหนัง
หลบแดด กางร่ม ใส่หมวก ทาครีมกันแดด ทานวิตามินซี ทาครีมไวเทนนิ่ง
ฝ้า.. สำคัญที่การปกป้องตัวเองจากแสงแดด..อย่าลืมนะคะ
ไม่งั้นฝ้าจะมาเตือนเราเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้