Last updated: 22 ก.ย. 2565 | 135545 จำนวนผู้เข้าชม |
นานาสาระ เกี่ยวกับ อย.และเครื่องสำอาง ที่ผู้ใช้และผู้ขายทุกท่านควรรู้ ฟาร์มาบิวตี้แคร์ใช้เวลาสืบค้นและเรียบเรียงอยู่หลายวัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะคะ
คำถามที่ 4 (คำถามจริงจากเวบ อย.) หากรับสินค้าจากผู้ผลิตที่มีการจดเลขที่ อย. ถูกต้อง แล้วนำมาทำยี่ห้อใหม่เพื่อจำหน่ายโดยใช้เลขที่ อย.เดิมของผู้ผลิตที่ได้จดไว้ได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นโรงงาน abc ผลิตเครื่องสำอางยี่ห้อ ก. ร้าน xyz รับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจาก abc แล้วนำมาเปลี่ยนยี่ห้อเป็น ข. โดยใช้เลขที่ อย. เดียวกันกับของบริษัท ก. สามารถทำได้หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ได้ค่ะ ต้องมาจดแจ้งกับ อย ใหม่ ได้เลขที่ใบรับแจ้งใหม่ ถึงแม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะได้รับเลขที่ใบรับแจ้งจากผู้ผลิตเดิมก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเครื่องสำอางที่ต้องการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขาย ต้องมาดำเนินการจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ โทร 02 590 7441 หรือ 7422-3 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานที่ผลิตหรือสถานที่นำเข้านั้นตั้งอยู่
การผลิตและนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขาย ต้องมาจดแจ้งกับ อย.ก่อนขายเสมอ (ขาย หมายความว่า จำหน่าย จ่ายแจก หรือแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในการค้าและหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย)
คำถามที่ 5 มีครีมนึงเจ้าของบอกว่ามีเลข อย.แล้ว แต่ไม่ได้ลงเลขบนฉลาก แบบนี้จะทราบได้อย่างไรว่าเขาจดจริงห รือไม่ ?
ตอบ: เครื่องสำอางที่จดแจ้ง กับ อย แล้ว ต้องนำเลขจดแจ้งมารุะบุบนฉลากด้วยและต้องดูว่ามีฉลากภาษาไทยที่ระบุรายละเอียดอื่นๆครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ คำเตือน ทั้งนี้ ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ เพราะหากเกิดปัญหาสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ และควรสังเกตดูด้วยว่าทางร้านมีการจัดเก็บเครื่องสำอางเป็นอย่างดี ไม่เก็บไว้ในที่ร้อนชื้น แสงแดดส่องถึง เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพเร็วกว่าปกติ การใช้ข้อมูลบนฉลากให้เป็นประโยชน์ก่อนตัดสินใจซื้อ จะช่วยให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
หากเจ้าของสินค้าไม่ลงเลขบนฉลาก ผู้ซื้อมีสิทธิ์สอบถามเลขที่จดแจ้งและนำไปเช็คกับเวบ อย.ว่าตรงและถูกต้องหรือไม่
เน้นย้ำอีกครั้ง
-ผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งแล้ว แต่ไม่นำเลขจดแจ้งมาลงบนฉลาก ก็ยังถือว่ามีความผิด
-ผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งแล้ว นำเลขจดแจ้งมาลงบนฉลาก แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นๆตามประกาศ ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ คำเตือน ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน
ฉะนั้น ต้องดูทั้งเลข และรายละเอียดบนฉลากค่ะว่าครบถ้วน ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ เพราะหากเกิดปัญหาสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้
รายละเอียดบนฉลากเครื่องสำอางที่ อย.กำหนด
ตัวอย่างฉลากที่ครบถ้วน
ฉลากเครื่องสำอางสำคัญมาก ถึงมีเลข อย.มาลง แต่ลงรายละเอียดอื่นไม่สมบูรณ์ก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฏหมายและไม่น่าเชื่อถือ เช่น ลงส่วนผสมบนฉลากว่า vitamin C, สารสกัดมะนาว , สารสกัดเปลือกมังคุด ชื่อส่วนผสมเหล่านี้ไม่เป็นไปตามชื่อที่ อย.กำหนด ถือว่ามีความผิด
คำถามที่ 6 อยากทราบว่าหากประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาและครีมบำรุงผิวจากสมุนไพร ในลักษณะธุรกิจแบบครัวเรือน(บุคคลธรรมดา) ต้องดำเนินการจด อย.หรือไม่?
ตอบ : ต้องจดค่ะ ไม่มีข้อยกเว้น เครื่องสำอางทุกชนิดอยู่ภายใต้ พรบ.เครื่องสำอาง
คำถามที่ 7 เครื่องสำอางที่จะยื่นจดแจ้ง อย.ได้ ต้องผลิตจากโรงงานที่มี GMP หรือไม่?
ตอบ : ไม่จำเป็น อย.ไม่ได้บังคับว่าเครื่องสำอางนั้นจะต้องผลิตจากสถานที่ที่มี GMP เครื่องสำอาง OTOP ก็สามารถยื่่นจดแจ้งได้ ขอให้สามารถให้ข้อมูลตามที่ อย.กำหนดได้ อย่างไรก็ตาม อย.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำตามมาตรฐานGMP เพื่อทัดเทียมและแข่งกันในตลาดสากลได้
คำถามที่ 8 การจด อย. จะทำให้คู่แข่งลอกเลียนแบบสูตรหรือไม่?
ตอบ : ประเด็นการลอกเลียนสูตรกับการจดแจ้ง อย. ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน การจดแจ้งสูตรไม่ทำให้เกิดปัญหาการลอกเลียนสูตร..ผู้ประกอบการเข้าใจผิดกันมาก ว่าการจดแจ้งสูตร อย.จะทำให้สูตรถูกลอกเลียนแบบ
8.1 ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายเดิมหรือกฏหมายใหม่ ในการระบุส่วนผสมบนฉลากต้องลงส่วนผสมทุกตัว เรียงลำดับความเข้มข้นจากมากไปหาน้อย และไม่ต้องระบุ % ของส่วนผสมบนฉลาก
8.2 การจดแจ้งสูตร ทาง อย.ไม่ได้บังคับให้แจกแจง %ส่วนผสม ยกเว้นสารนั้นเป็นสารที่ อย.ประกาศให้เป็นสารที่ต้องควบคุมปริมาณการใส่ ก็จะต้องระบุ % สารที่ อย.กำหนดปริมาณ และ อย. ไม่เคยเผยแพร่สูตรสู่สาธารณะ
8.3 สูตรแต่ละสูตร ไม่ได้ ทำเลียนแบบกันง่ายๆ ถ้าทำง่าย คงมีคนลอกเลียนสูตรแบรนด์ดังๆ กระปุกละหลายๆพัน มาวางขายกันแล้ว และเราคงไม่ต้องไปซื้อเครื่องสำอางแบรนด์เนมแพงๆในห้างสรรพสินค้ากันอีกต่อไป แม้จะรู้ส่วนผสมบนฉลาก แต่ไม่รู้% ที่ใส่ ทำเลี่ยนแบบให้ตายยังไงก็ไม่เหมือนแน่นอนค่ะ หรือแม่แต่รู้ % ที่ใส่ ก็อาจจะทำออกมาได้ไม่เหมือน
คำถามที่ 9 ไปรับเครื่องสำอางมาขายต่อ บนฉลากไม่มีเลขที่ใบรับแจ้ง เราในฐานะผู้ขาย (ไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ ไม่ใช่ผู้ผลิต) มีความผิดหรือไม่?
ตอบ : ผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่มี “เลขที่ใบรับแจ้ง” บนฉลาก มีความผิดตาม พรบ.เครื่องสำอาง แม้จะไมได้ผลิตเองก็ตาม
แต่ถ้าเป็นการกระทำของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับที่สูงกว่าผู้ขายธรรมดา
คำถามที่ 10 : ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง มีบทลงโทษหรือไม่ ?
ตอบ : ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่มาจดแจ้งเครื่องสำอางให้เรียบร้อยก่อนผลิตหรือนำเข้า ถือว่ามีความผิดตาม พรบ.เครื่องสำอาง มีโทษทั้งจำหรือปรับ
********
บทความนี้เรียบเรียงโดย ภญ.จิราพรรณ คำดี