Seborrheic Dermatitis เซบเดิร์ม คืออะไร บทความโดยเภสัชกร

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  198491 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Seborrheic Dermatitis  เซบเดิร์ม   คืออะไร  บทความโดยเภสัชกร


Seborrheic Dermatitis  ซีบอร์ริค เดอร์มาไตติส  เรียกกันติดปากว่า "เซบเดิร์ม"
เซบเดิร์มเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดกับผิวบริเวณที่มีความมัน เช่น บริเวณกลางใบหน้า เหนือคิ้ว หัวคิ้ว ข้างจมูก ซอกจมูก ไรผม รูหู ซอกหู หลับใบหู ถ้าเป็นน้อยๆหรือเพิ่งเริ่มเป็นจะมีลักษณะเป็นขุยลอกเป็นหย่อมๆ โดยทั่วไปจะไม่มีอาการคัน ยกเว้นเป็นมากๆ อาจจะมีอาการคันและมีการลามเป็นผื่นแดงกว้างขึ้น ขุยหนาขึ้น  ดูคล้ายโรคสะเก็ดเงิน  (Psoriasis) บางรายอาจเป็นที่ ต้นคอ หน้าอกและแผ่นหลัง เวลาลูบจะเป็นเหมือนสะเก็ดแผลที่ใกล้หาย ชวนให้แกะ เมือแกะจนสะเก็ดหลุดออกจะเห็นเป็นรอยแดงๆเรียบๆ แต่อีก 2-3 วันต่อมา สะเก็ดก็ขึ้นมาใหม่ วนอยู่แบบเดิม บางรายที่มีขุยสะเก็ดตามไรผม ทำให้ดูคล้ายเป็นรังแค


แยกเซบเดิร์มกับสะเก็ดเงินอย่างไร

เซบเดิร์มจะเป็นขุยเล็กกว่าและไม่หนาเท่าสะเก็ดเงิน ขุยสีออกเหลืองหรือขาว บี้ดูจะรู้สึกมันๆ (ให้นึกถึงแผ่นไขมันบนศีรษะเด็กแรกเกิด) มักเป็นที่ซอกจมูก คิ้ว หัวตา ไรผม รูหู หลังหู แผ่นหลัง หน้าอก 

สะเก็ดเงิน ปื้นจะหนา ลูบแล้วรู้สึกได้ว่าสะเก็ดมีการยกตัวนูนขึ้นมา สะเก็ดมีสีเงิน  มักไม่เป็นที่หน้า หากเป็นที่ไรผมมักจะลามออกนอกแนวไรผม และมักพบอาการบริเวณอื่นด้วย เช่น เข่า ศอก เล็บ อาการปวดข้อจากข้ออักเสบ รักษายากกว่าเซบเดิร์ม

สาเหตุการเกิดโรค
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ายีสต์มีส่วนทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะยีสต์ที่ชื่อ Pityriasis Ovale  (P.Ovalae)  อีกชื่อหนึ่งคือ Malassezia Furfur (M . furfur) จากการศึกษาพบว่าการใช้ยาฆ่าเชื่้อยีสต์ ทำให้โรคดีขึ้น 

ยีสต์เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่คล้ายเชื้อรา ชอบอาศัยอยู่ในรูขุมขน กินไขมันเป็นอาหาร ขับของเสียที่มีฤทธิ์ระคายเคือง และยังสามารถเปลี่ยนน้ำมันบนผิวให้เป็นกรดไขมัน (fatty adid)  ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองอีกด้วย  เป็นสาเหตุให้เกิดผื่นอักเสบขึ้น แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ตรงบริเวณผิวมันของทุกคนก็พบเชื้อ P.Ovalae และกรดไขมันมากกว่าปกติอยู่แล้วแต่ทำไมจึงเกิดเซบเดิร์มในบางคนเท่านั้น   เรื่องนี้มีผู้อธิบายว่า
ในคนที่เป็นเซบเดิร์ม ผนังรูขุมขนและเซลล์ผิวหนังขาดความแข็งแรงจึงไม่สามารถทนต่อการรบกวนของเชื้อยีสต์ P. Ovale และกรดไขมันได้ เดี๋ยวจะอธิบายในส่วนต่อไปนะคะ ว่าทำไมเซลล์ผิวหนังจึงขาดความแข็งแรง

นอกจากเชื้อยีสต์ยังมีปัจัยกระตุ้นการเกิดเซบเดิร์มอื่นๆอีก  เช่น

1. โรคประจำตัวบางโรค
1.1 โรคพาร์กินสัน  ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอัตราการผลิตน้ำมันจากต่อมไขมันสูงขึ้นทำให้เชื่อยีสต์มีอาหารมากขึ้น กรดไขมันก็มากขึ้นด้วย
1.2 ผู้ป่วยเอดส์  : ในคนปกติจะมีอัตราการเกิดเซบเดิร์มอยู่ที่ 3-5% แต่ในผู้ป่วยเอดส์มีอัตราการเกิดเซบเดิร์มสูงถึง 85-90% โดยจะเริ่มมีอาการเมื่อระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า CD4 ตกลงไปอยู่ในช่วง 450-550 cells/µL   และผู้ป่วยเอดส์ ที่มีความผิดปกติในสมองส่วนกลางจะมีอัตราการเป็นโรคนี้สูงขึ้น (ยังไม่มีการอธิบายความสัมพันธ์นี้)

2. ความเครียด นอนดึก กรรมพันธุ์
ความเครียด นอนดึกทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กรรมพันธุ์มีความสัมพันธุ์กับโรค ถ้าพ่อหรือแม่เป็น มักจะถ่ายทอดมายังลูก 

3. การแบ่งตัวของเซลล์ผิวที่เร็วเกินไป ทำให้เซลล์ผิวหนังขาดความแข็งแรง จึงไวต่อการรบกวนของกรดไขมัน, ของเสียจากยีสต์
การแบ่งตัวของเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าจะเกิดที่ชั้น Stratum basalae   ได้เซลล์ตัวอ่อนใหม่ๆ ก่อนที่เซลล์ตัวอ่อนเหล่านี้จะเคลื่อนตัวมาสู่ผิวชั้นนอกสุดจะต้อง ผ่านกระบวนการเจริญเติบโตเป็นเซลล์เต็มวัยก่อน ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 20-28 วัน ในกระบวนการเจริญเติบโตนี้จะมีการสร้างสารประกอบบางอย่างภายในเซลล์ ที่เรียกว่า natural moisturizing factors และ intercellular lipids  สะสมไว้ สารเหล่านี้จะคอยทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องเซลล์ผิว (skin barrier) ยามที่มันเคลื่อนตัวมาถึงชั้นนอกสุด ซึ่งต้องเจอทั้งแสงแดด การชะล้าง อากาศ  สารเคมี ฯลฯ  หากการแบ่งตัวเซลล์ผิวเกิดเร็วเกินไป skin barrier ยังไม่สมบูรณ์  เซลล์ผิวจึงอ่อนแอ ไวต่อการรบกวนของกรดไขมันและของเสียจากยีสต์ เกิดเป็นโรคเซบเดิร์ม

การแบ่งตัวของเซลล์ผิวที่เร็วเกินไป เกิดกับใครได้บ้าง
* คนที่เป็นโรคผิวหนังบางโรคที่มีความผิดปกติของการแบ่งตัวเซลล์ผิวหนังตามธรรมชาติ
* คนทั่วไป ที่ลอกผิวหรือใช้ครีมกัดผิวติดต่อกัน (มักพบในครีมหน้าใส หน้าเงา หน้าวาว ที่เห็นผลเร็ว 5-7วัน) ...ทำให้อาการเซบเดิร์มแย่ลง
* คนทั่วไปที่ ขัดผิว กรอผิว ทำเลเซอร์บางประเภท ถี่เกินไป ...ทำให้อาการเซบเดิร์มแย่ลง

 

4.  อากาศเปลี่ยน เช่น หน้าหนาว ความชื้นต่ำ
ความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นและกลายเป็นผิวแห้ง ผิวที่แห้งจะระคายเคืองง่าย ทำให้โรคเซบเดิร์มกำเริบได้ง่าย

บางคนผิวแห้งทำไมไม่เป็นเซบเดิร์ม?
คนที่ผิวแห้งจริงๆ มักไม่เป็นเซบเดิร์ม แม้อากาศจะแห้งมาก หนาวมาก คนเหล่านี้อาจจะมีลอกของผิวบ้าง เห็นเป็นขุยบ้าง ทาครีมบำรุงก็หาย   เพราะอะไร? อาจเพราะคนที่ผิวแห้งโดยกำเนิด มีปริมาณต่อมไขมันใต้ผิวน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีน้ำมันให้เชื้อยีสต์รับประทานและไม่มีกรดไขมันที่ระคายเคืองผิว

แต่เราชาวผิวผสม บางจุดมัน บางจุดแห้ง เดี๋ยวแห้งเดี๋ยวมัน ไม่ค่อยเข้าใจผิวตัวเอง มักจะเป็นเซบเดิร์มได้ง่ายกว่า ยิ่งเวลาเข้าหน้าหนาว ผิวที่เคยมันจะแห้งลง เมื่อผิวแห้งร่างกายจะมีกลไกรักษาความชุ่มชื้นโดยไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมาเคลือบผิวมากขึ้น น้ำมันที่ออกมาก็กลายเป็นอาหารของยีสต์ ยีสต์กินเสร็จก็ปล่อยของเสียออกมา น้ำมันบางส่วนก็ถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมัน ครบองค์ประกอบการกำเริบ -->   "ผิวแห้ง +ของเสียยีสต์ + กรดไขมัน " 

อีกหนึ่งวิธีป้องกันการกำเริบเซบเดิร์มในหน้าหนาว :  ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของสารจำพวก natural moisturizing factor และ Intercellular lipids เข้าไว้  ดีขึ้นจริงๆ อาจไม่ต้องทายา  ครีมบำรุงบางแบรนด์ที่เคลมว่าช่วยรักษาผิวหนังอักเสบอย่างฟิสิโอและเซตาฟิลก็ใช้ทฤษฏีนี้ในการคิดสูตรเหมือนกัน  เมื่อผิวชุ่มชื้น ผิวก็แข็งแรง น้ำมันก็ไม่ถูกผลิตออกมามากเกินไป ของเสียก็ไม่เกิด เราก็จะผ่านหน้าหนาวนั้นไปได้แบบสบายๆ 

natural moisturizing factor และ Intercellular lipids คืออะไร เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของผิวอย่างไร  มีเขียนไว้ในบทความของฟาร์มาบิวตี้แคร์นะคะ คลิกที่นี่

5. ขาดกรดไขมันจำเป็นที่ชื่อ  linoleic acid
Linoleic acid เป็นกรดไขมันประเภทหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ผิวหนัง  มีการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานน้ำมัน evening primrose oil หรือ EPO ซึ่งอุดมไปด้วย linoleic acid นั้น นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์ผิวแล้วยังช่วยลดหรือยับยั้งฮอร์โมน อักเสบของร่างกายที่เรียกว่า prostaglandin ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย

6. แสงแดด อาหาร ยาบางชนิด
สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เซบเดิร์มกำเริบได้ในบางคน ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตและหลี่กเลี่ยง

การป้องกันการกำเริบ 
ในคนปกติสุขภาพดี (ไม่มีโรคประจำตัวเช่น พาร์กินสันหรือเอดส์ ) หลักสำคัญในการป้องกันการกำเริบของเซบเดิร์ม คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลผิวหนังให้แข็งแรง ทามอยเจอร์ไรเซอร์สม่ำเสมอ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อผิวหนังอ่อนแอ ร่างกายอ่อนแอ เซบเดิร์มอาจกำเริบได้ 



การรักษาเซบเดิร์ม
ปัจจุบันยังเป็นการรักษาปลายเหตุอยู่
- การใช้ยาไปฆ่าเชื้อยีสต์ : ยาครีม / แชมพูที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล  แชมพู Selson ฟอก
- ยาลดผิวหนังอักเสบ : ยาครีมสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิว
ทั้งสองอย่างควรใช้ระยะสั้น หลังจากหยุดการรักษา ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังตัวเอง พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการกำเริบของโรค จำไว้ว่า โรคนี้ไม่หายขาดแต่ป้องกันได้


การปฏิบัติตัวขณะกำลังเป็นเซบเดิร์ม
หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนต่าง ๆ จากภายนอก เช่น  แสงแดด ความร้อน สบู่ที่เป็นด่าง ฟองจากโฟมและครีมล้างหน้า เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
คนที่เป็นเซบเดิร์ฒควรใช้น้ำเปล่าหรือสบู่อ่อนเป็นพิเศษ ใช้ครีมกันแดดเพื่อป้องกันการรบกวนจากรังสีในแสงแดด ร่วมกับมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งกร้าน
ในบางรายอาจต้องใช้อาหารเสริมหรือวิตามินบางชนิด เช่น LINOLEIC ACID เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของผิวหนัง


สรุป เซบเดิร์มเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์หาสาเหตุที่แท้จริงแต่เข้าใจว่า เริ่มต้นจากการที่ผนังรูขุมขนและเซลล์ผิวหนังไม่แข็งแรง จึงถูกรบกวนโดยเชื้อ P.OVALE และกรดไขมันในรูขุมขนได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณผิวมัน ผลก็คือ เซลล์แบ่งตัวเร็วขึ้นและเมื่อได้รับสิ่งรบกวนซ้ำเติมจากภายนอก เช่น แสงแดด ความร้อน รังสี ความแห้งจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ความเป็นด่างของสบู่ ฟองครีมล้างหน้า โฟมล้างหน้า เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ฯลฯ ทำให้อักเสบแดง เห่อ ลอกเป็นขุย นอกจากนั้นการพักผ่อนน้อย เครียดวิตกกังวล ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบได้

 

คำถามที่พบบ่อย
Q : ทางร้านมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแนะนำสำหรับคนที่เป็นโรคนี้หรือไม่ ?
A :  ผลิตภัณฑ์ของฟาร์มาบิวตี้แคร์ที่เน้นให้ความชุ่มชื้นและฟื้นฟูโครงสร้างผิว  ลดความรุนแรงของเซบเดิร์ม คือ impression serum เซรั่มอิมเพรสชั่น หรือ  wheat sensicare cream ครีมข้าวสาลี สองผลิตภัณฑ์นี้ไม่ใช่ยารักษา ใช้เสริมกับการรักษาหลักเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการแห้งลอกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้